แผ่นเสียง/จานเสียงครั่ง
แรกสุดเป็นกระบอกอัดเสียงเคลือบขี้ผึ้งแบบเอดิสัน ซึ่งในเมืองไทย (สยาม) ใช้บันทึกเพลงไทยเดิม ตั้งแต่ราวปลายรัชกาลที่ 4 ต่อมาเริ่มมีการบันทึกเสียงลง แผ่นครั่ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนใหญ่เป็นเพลงเรื่องบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ที่กำลังได้รับความนิยมในสมัยนั้น [1] ซึ่งมักไม่จบในหน้าเดียว จึงต้องบันทึกต่อกันเป็นชุดๆละหลายแผ่น
โดยทั่วไปมีขนาด 10-12 นิ้ว สปีด 78 รอบ/นาที บันทึกและเล่นกลับได้หน้าละไม่เกิน 3-5 นาที เนื่องจากมีลักษณะค่อนข้างหนาและหนัก ตกแตกง่ายอย่างจานกระเบื้อง บางทีจึงเรียกว่า จานเสียง คุณภาพเสียงออกทางแหลมแตกพร่ารวมทั้งเสียงรบกวนจากหัวเข็มโลหะที่ต้องคอยเปลี่ยนบ่อย
แผ่นครั่งในเมืองไทย ได้แก่ ปาเต๊ะ ,อาร์ซีเอ วิคเตอร์ (ที่เรียกติดปากว่า ตราหมาหน้าเขียว,แดง,เหลือง ฯลฯ ) ,พาร์โลโฟน ,โคลัมเบีย ,เดคก้า ,บรันซวิค ,แคปิตอล ,ฟิลิปส์ ,เอ็มจีเอ็ม ,เทพดุริยางค์ ,โอเดียน (ช้างคู่ ) ,ศรีกรุง (พระปรางค์วัดอรุณ) ,กระต่าย ,อัศวิน ,สุนทราภรณ์ ,มงกุฏ ,เทพนคร ,นางกวัก ,วัวกระทิง ,ค้างคาว ,ลิง ,หมี ,นาคราช ,หงษ์ (คู่ ) ,บางกอก ,กามเทพ ,เพชรสุพรรณ ,กรมศิลปากร แผ่นที่ใช้เฉพาะในสถานี เช่น กรมโฆษณาการ (แผ่นดิบ) หรือจำหน่ายบางโอกาส เช่น เนรมิตภาพยนตร์ ฯลฯ
การผลิตจำหน่าย มีทั้งทำแผ่นเองในประเทศ และอีกส่วนหนึ่งส่งมาสเตอร์ไปทำแผ่นที่เมืองนอก โดยเฉพาะที่เมืองดัม ดัม ประเทศอินเดีย (Dum Dum India) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั้งในยุโรปและอเมริกาว่ามีมาตรฐานสูง คูณภาพเนื้อแผ่นดีที่สุด (และผู้ผลิตในเมืองไทยยังคงนิยมสั่งทำแผ่นจากที่นี่จนถึงยุคแผ่นลองเพลย์กับซิงเกิลในช่วงแรก) แต่จานเสียงครั่งที่สั่งทำจากต่างประเทศดังกล่าว บางชุดมาไม่ถึงเมืองไทยเนื่องจากประสบอุบัติเหตุในการขนส่งขณะเดินทางจมน้ำเสียหายหมด
แผ่นเสียงไวนิล
อัลบั้มลองเพลย์
ช่วงปี พ.ศ. 2491 บริษัทแผ่นเสียงโคลัมเบีย ในอเมริกา พัฒนาแผ่นบันทึกเสียงชนิดใหม่ได้สำเร็จ เรียกว่า แผ่นเสียง/อัลบั้มลองเพลย์ (Long played record /album) บางทีเรียก แผ่นเสียงไวนิล (Vinyl) [2] ตามชื่อพลาสติก[3] คุณภาพดีที่ได้จากคาร์ไบด์ (Carbide)[4] แผ่นชนิดนี้ มีขนาดบาง เบา ตกไม่แตก คุณภาพเสียงทุ่มนุ่มนวลลุ่มลึกมากขึ้น สามารถลดเสียงรบกวนจากหัวเข็มลงเหลือเพียงเล็กน้อย และบรรจุเพลงเพิ่มขึ้นด้วยขนาด 12 นิ้ว สปีด 33 รอบเศษ/นาที ปกติบันทึกได้หน้าละ 20 นาทีเศษ (ราว 6-7 เพลง/หน้า)
ในต่างประเทศ ยังคงมีผลิตบ้างจำนวนจำกัดเฉพาะกลุ่มที่ชอบฟังเสียงจากแผ่นไวนิล ทำให้แต่ละอัลบั้มมีราคาสูง ส่วนประเทศไทยซึ่งเลิกผลิตแบบอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เมื่อแถบบันทึกเสียงตลับ (Cassette Tape) เป็นที่นิยมมากขึ้นก่อนถึงยุคแผ่นซีดีเข้ามาแทนที่ตามลำดับ ปัจจุบันกำลังมีกระแสการกลับมานิยมแผ่นรูปแบบนี้อีกครั้ง ตั้งแต่ราวต้นทศวรรษ 2550 บริษัทค่ายเพลงต่างๆ ในเมืองไทยสั่งทำแผ่นจำนวนจำกัดจากโรงงานที่ ญี่ปุ่น อเมริกา และ เยอรมนี อัลบัมเก่ามักใช้ภาพปกต้นฉบับเดิมสำหรับนักสะสม มีราคาจำหน่ายจากหลักร้อยในอดีตเป็นหลักพันบาทขึ้นไป พร้อมๆกับตลาดแผ่นเสียงไวนิลมือสองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในศูนย์การค้าจนถึงตามสื่ออินเทอร์เน็ต
แผ่นซิงเกิล
ปี พ.ศ. 2492 บริษัท อาร์ซีเอ วิคเตอร์ ทำแผ่นไวนิลขนาดเล็ก 7 นิ้ว สปีด 45 รอบ/นาที คุณภาพเสียงด้อยกว่าแผ่นใหญ่เล็กน้อย บันทึกได้หน้าละไม่เกิน 2 เพลง เรียกกันว่า แผ่นซิงเกิล (Single) มักใช้กับเพลงเด่นๆ ที่ตัดจากแผ่นลองเพลย์ เพื่อเผยแพร่ตามสถานีวิทยุ ก่อนวางจำหน่ายอัลบั้มเต็ม
แผ่นไวนิลทุกขนาดมีการผลิตต่อเนื่องยาวนานถึง 30 ปี ก่อนเข้าสู่ยุคใหม่ของการบันทึกเสียงด้วยระบบดิจิตอลบนแผ่นซีดี
แผ่นไวนิลในเมืองไทย ได้แก่ อาร์ซีเอ ,โคลัมเบีย ,เดคก้า ,แคปิตอล ,ฟิลิปส์ ,เอ็มจีเอ็ม ,ศรีกรุง ,กระต่าย ,อัศวิน ,สุนทราภรณ์ ,มงกุฏ ,เคเอส (กมลสุโกศล ) ,นางฟ้า (เมโทรแผ่นเสียง ) ,สุพรรณหงษ์ (กรุงไทย ) ,นิธิทัศน์ ,อีเอ็มไอ ,จีเอ็มเอ็ม (แกรมมี่ ) ,อาร์เอส ,อโซน่าร์ ฯลฯ รวมถึงแผ่นที่ใช้เฉพาะในสถานี วิทยุ อส. หรือจำหน่ายบางโอกาส เช่น กรมศิลปากร ,ละโว้ภาพยนตร์ และ ทีวี 4 (ไทยทีวีช่อง 4) เป็นต้น
แผ่นเสียงเพลงไทยส่วนใหญ่นิยมทำเป็นอัลบั้มไวนิลขนาด 12 นิ้ว ส่วนแผ่นครั่งขนาด 10 นิ้ว ซึ่งมีเสียงรบกวนและดูแลรักษายาก ไม่เป็นที่นิยมทั่วโลกนานแล้ว